ระยะที่ 3

ระยะที่ 3

โครงการการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี (Collaboration Integrated Area Development for Solving Absolute Poverty: Case Study of Pattani Province)

       “โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี” เป็นโครงการวิจัยระยะที่ 3 ดำเนินการในช่วงปี 2565-2566 ต่อเนื่องจาก “โครงการวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการลดความยากจนและการพัฒนาความเท่าเทียมในประเทศไทย: กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี” ได้ดำเนินการระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ในช่วงปี 2563-2564 และ 2564-2565 ผลการศึกษาวิจัยภาพรวม สามารถสรุปเป็น 7 ประเด็น ดังนี้

       1) การออกแบบกระบวนการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือการวิจัยเพื่อค้นหาและสอบทานข้อมูลให้มีคุณภาพให้ครบร้อยละ 100 ซึ่งอ้างอิงตามฐานข้อมูล TPMAP โดยทำการค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนใน 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี ในระยะที่ 1 รวมครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้นที่ได้สำรวจและนำข้อมูลเข้าระบบจำนวน 17,191 ครัวเรือน และในระยะที่ 2 จากข้อมูลครัวเรือนเป้าหมายอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีในฐานข้อมูล TPMAP พบว่า ครัวเรือนยากจนเป้าหมายในอำเภอยะหริ่ง ประกอบด้วย 18 ตำบล 81 หมู่บ้าน มีจำนวนทั้งสิ้น 1,933 ครัวเรือน หรือ 4,529 คน ได้ทำการสอบทานคัดกรองคนจนจริงและคนจนไม่จริง ผลการสอบทานคัดกรองข้อมูลครัวเรือนยากจนพบว่า มีครัวเรือนคนยากจน จำนวน 1,340 คน คิดเป็นร้อยละ 80.14 และ กลุ่มครัวเรือนคนยากจน ที่ตกหล่นจำนวน 142 คน คิดเป็นร้อยละ 8.49 รวมทั้งสิ้น 1,482 คน คิดเป็นร้อยละ 88.63 มีกลุ่มครัวเรือนที่ไม่อยู่ในข่ายคนยากจน จำนวน 474 คน คิดเป็นร้อยละ 28.40

       2) การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนจากระบบ ฐานข้อมูลไปสู่กลไกความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนจังหวัดครบร้อยละ 100 โดยส่งข้อมูลให้ 7 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดปัตตานี สำนักงานคลังจังหวัดปัตตานี วิทยาลัยการอาชีพ จังหวัดปัตตานี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างระบบข้อมูลย้อนกลับและการจัดทำระบบส่งต่อความช่วยเหลือ มีการดำเนินการใน 2 ส่วน คือ

             2.1) การศึกษาและพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนเพื่อการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาของจังหวัดปัตตานี จากการประชุมกับผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปัตตานี พบว่าจังหวัดปัตตานี ยังไม่ได้กำหนดระบบหรือแนวทางในการส่งต่อความช่วยเหลือคนหรือครัวเรือนยากจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนทันทีอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นว่าระบบดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาทั้งกรณีจำเป็นเร่งด่วนและกรณีที่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยหลายฝ่าย ที่ประชุมเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดปัตตานี (ศจพ.จ.)” เนื่องจากมีหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้โดยตรง จึงได้ประสานงานกับพัฒนาการจังหวัดปัตตานีในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการบริหาร ศจพ.จ.ปัตตานี ในการกำหนดรูปแบบระบบส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนเพื่อการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาของจังหวัดปัตตานี

             2.2) การส่งต่อครัวเรือนยากจนจากระบบฐานข้อมูลไปสู่กลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนจากระบบฐานข้อมูลไปสู่กลไกความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจน จังหวัดปัตตานีมี 2 ลักษณะ คือ การส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนจากระบบฐานข้อมูลไปสู่กลไกความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนระดับจังหวัด และ การส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนจากระบบฐานข้อมูลไปสู่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประเด็นปัญหานั้น ๆ โดยตรง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนปัจจัยสำหรับการอุปโภค บริโภค การช่วยเหลือให้เข้าศึกษาต่อ เป็นต้น จนเกิดกลไกการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น โดยใช้หลักการบูรณาการการทำงาน เพื่อร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน

       3) การพัฒนาปฏิบัติการโมเดลแก้จน (Operating Model) ระดับพื้นที่มีเป้าหมายของการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภายใต้โครงการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัดปัตตานี ให้ความสำคัญกับการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจนเป้าหมายอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ตามกรอบคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นที่นำร่องคือ อำเภอยะหริ่ง ใน 3 ตำบล คือ ตำบลตาลีอายร์ ตำบลแหลมโพธิ์ และตำบลบางปู โดยมีคนจนเป้าหมายอย่างน้อย 500 ครัวเรือน หรือ 2,000 คน (จากจำนวนครัวเรือนยากจนทั้งสิ้น 1,162 ครัวเรือน หรือ 6,404 คน)

       คณะผู้วิจัยด้วยความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาปฏิบัติการโมเดลแก้จน (Operating Model) ระดับพื้นที่ที่เหมาะสมกับศักยภาพของคนจนเป้าหมายและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่ทำให้คนจนหลุดพ้นความยากจนตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework: SLF) จำนวน 4 โมเดลที่ใช้องค์ความรู้ นวัตกรรมและ/หรือเทคโนโลยีในการพัฒนาอาชีพ/ยกระดับรายได้คนจนร้อยละ 40 ล่าง ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 มีรูปแบบการดำเนินงานของปฏิบัติการโมเดลแก้จน 2 รูปแบบ คือ

             3.1) กิจกรรมรูปแบบเดิม ที่เป็นการต่อยอดในการดำเนินงานของระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาอาชีพ/ยกระดับรายได้คนจน ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 6,000 บาทต่อเดือน (10%) จำนวน 4 โมเดล ภายใต้กรอบคิดปฏิบัติการโมเดลแก้จน (Operating Model: OM) “ตาลีอายร์ยั่งยืน (Eco-Tali-Ai): ระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศทางสังคมตำบลตาลีอายร์ (Ecology creates economy in Tali-Ai)” ซึ่งประกอบด้วย 4 OM คือ 1) Tali-Ai Care 2) Tali-Ai Creative 3) Tali-Ai Agronomy และ 4) Tali-Ai Biz เป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการมุ่งแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับศักยภาพของครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ที่สอดคล้องกับบริบทสังคมเศรษฐกิจของตำบลตาลีอายร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

             3.2) กิจกรรมรูปแบบใหม่ ที่มีรูปแบบใหม่โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลแหลมโพธิ์และตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่มุ่งแก้ปัญหาครัวเรือนคนจนในเชิงประเด็น อาทิ กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ตำบลบางปูหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อำเภอยะหริ่ง และการสร้างกระบวนการเลี้ยงแพะอย่างครบวงจรที่ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินการปฏิบัติการแก้จน (Operating Model) คณะผู้วิจัยได้นำเสนอในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การพัฒนาปฏิบัติการโมเดลแก้จนตาลีอายร์ยั่งยืน (Eco-Tali-Ai): ระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศทางสังคมตำบลตาลีอายร์ (Eco-Tali-Ai: Ecology creates economy in Tali-Ai)

       4) ความยากจนข้ามรุ่นและแนวทางการแก้ไขปัญหาลดความยากจนข้ามรุ่น ในการดำเนินการปฏิบัติการแก้จน (Operating Model) คณะผู้วิจัยมุ่งเน้นศึกษาในประเด็นความยากจนข้ามรุ่นซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต สำหรับการวิเคราะห์บริบทความยากจนข้ามรุ่นของจังหวัดปัตตานีสรุปได้ดังนี้

             4.1) การขาดความมั่นคงทางการเงิน ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นไม่มีเงินออม การศึกษาต่ำและอัตราการพึ่งพิงสูง

             4.2) อาชีพของหัวหน้าครัวเรือนยากจน อาชีพของหัวหน้าครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นส่วนใหญ่ คือ อาชีพเกษตรกรรม มีทั้งทำไร่ ทำนา ทำสวน บางส่วนรับจ้างทำนา วัยแรงงานในชุมชนส่วนหนึ่งออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือ มีที่ดินจำนวนน้อยไม่สามารถสร้างผลผลิตให้มีรายได้เพียงพอในการดูแลครอบครัว

             4.3) ภาวะทุพโภชนาการและมีพัฒนาการไม่สมวัยของเด็กแรกเกิดจนถึงห้าขวบ จังหวัดชายแดนใต้ มีความชุกของเด็กอายุ 0-5 ปีที่มีภาวะทุพโภชนาการสูงที่สุดในประเทศ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะตกอยู่ในกลุ่มยากจนข้ามรุ่นได้หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้ให้ทันเวลา

             4.4)  มีสมาชิกและผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในครัวเรือนยากจน เช่น การเจ็บป่วยเรื้อรัง ภาวะพิการ การขาดความสามารถในการประกอบอาชีพเนื่องจากภาวะติดยาเสพติดขั้นรุนแรง ที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ด้วยสาเหตุของความยากจนและภาระของลูกหลานที่ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งการมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความไร้ความสามารถของบุคคล

             4.5) ทัศนคติและพฤติกรรมสมาชิกในครัวเรือนยากจน สมาชิกในครัวเรือนยากจนบางคนมีความเชื่อเรื่องความพอเพียง ไม่มุ่งเรื่องการสะสม ไม่แสวงหา ส่งผลให้ขาดความกระตือรือร้นในการหารายได้เพิ่ม และมีส่วนหนึ่งที่มีการใช้จ่ายเกินตัว และมีหนี้สิน

       5) การจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ/หรือแผนจังหวัดเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่/จังหวัดปัตตานี คณะผู้วิจัยได้สังเคราะห์ผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กลยุทธ์ และแนวทางการพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพิจารณาบรรจุเข้าแผนพัฒนาจังหวัดปัตตานี 5 ปี พ.ศ.2566-2570 และจังหวัดปัตตานีตอบรับและบรรจุ ข้อเสนอเชิงนโยบาย กลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในแผนพัฒนาจังหวัดปัตตานี พ.ศ.2566-2570

       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนโยบายและบทบาทในการดำเนินแก้ไขปัญหาความยากจน ในการขับเคลื่อนได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันการศึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศจพ.จังหวัด หน่วยงานภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนภาคประชาสังคม สำหรับม.อ.ปัตตานีโดยโครงการวิจัยฯ ได้มีส่วนร่วมส่งต่อข้อมูลและการขับเคลื่อนตามบทบาทหน้าที่ได้รับการประสาน

       6) การพัฒนารูปแบบการจัดทำ Poverty Forum เป็นเครื่องมือในการประสานงานส่งต่อความช่วยเหลือและสร้างยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดปัตตานีอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก้ไขปัญหาความยากจน (Poverty Forum) ของจังหวัดปัตตานีมี 2 ลักษณะคือ การดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นกลไกหลัก และ การดำเนินการโดยคณะผู้วิจัยซึ่งเป็นเป็นประเด็นเฉพาะเรื่องที่ต้องการหาแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนตามกรอบภารกิจการวิจัย คณะผู้วิจัยตระหนักว่า เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก้ไขปัญหาความยากจน (Poverty Forum) ยังต้องการพัฒนาและกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกว่าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะได้ดำเนินการในระยะต่อไป

       7) ผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี สามารถวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ของโครงการ มีค่าเท่ากับ 1.99 เท่า ในขณะเดียวกันได้มีการประเมินผลตอบแทนทางสังคม ในรูปแบบคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Ex-Ante Evaluations) ช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2570 หรือผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 5 ปี ข้างหน้า พบว่า ดัชนีชี้วัด NPV หรือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิที่เกิดขึ้น จากการลงทุนในโครงการนี้มีมูลค่า 33,541,759.39 บาท SROI มีค่าเท่ากับ 5.97 เท่า หมายความว่า ทุกการลงทุน 1 บาทในโครงการนี้ จะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนกลับแก่สังคมโดยรวม 5.97 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในกิจกรรม การพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานีเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน

อรุณรวรรณ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว

aruneewan.n@psu.ac.th

ดร.ไอร์นี แอดะสง

ดร.ไอร์นี แอดะสง

ainee.a@psu.ac.th

ศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี
รศ.ดร.อัลญาณ์ สมุห์เสนีโต

รองศาสตราจารย์ ดร.อัลญาณ์ สมุห์เสนีโต

anlaya.s@psu.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ

jareerat.su@psu.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผศ.ดร.จิรัชยา เจียวก๊ก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรัชยา เจียวก๊ก

jirachaya.j@psu.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ดร.สวัสดิ์ ไหลภาภรณ์

ดร.สวัสดิ์ ไหลภาภรณ์

sawat.l@psu.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
นายไพรัตน์ จีรเสถียร

นายไพรัตน์ จีรเสถียร

สำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ
ผศ.ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง

aree.ta@psu.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
นางสาวนุรซาฮิดาห์ อุเซ็ง

นางสาวนุรซาร์ฮิดาห์ อุเซ็ง

nursahida.u@psu.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ผศ.ดร.เทียนทิพย์ ไกรพรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทียนทิพย์ ไกรพรม

thaintip.k@psu.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์

ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์

eaknarin.r@psu.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์

montira.l@psu.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดีไซน์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ-4

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ

ดีไซน์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ-5

นางกรวิภา ขวัญเพ็ชร

ดีไซน์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ-7

ผศ.ดร.บดินทร์ แวลาเตะ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
นางสาวอาตีซะห์ วาแมง

นางสาวอาตีซะห์ วาแมง

นางสาวรอดียะห์ สะมะ

นางสาวรอดียะห์ สะมะ

นางสาวอามีรา เจะเตะ

นางสาวอามีรา เจะเตะ

นางสาววรรณี มาหิเละ

นางสาววรรณี มาหิเละ

โมเดลปฏิบัติการแก้จน ตำบลตาลีอายร์: ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Tali-Ai Herbs)