โครงการแก้จนม.อ.ปัตตานีนำนวัตกรรมเกษตร BCG ส่งมอบให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรยิ้มแป้น

โครงการแก้จนม.อ.ปัตตานีนำนวัตกรรมเกษตร BCG ส่งมอบให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรยิ้มแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตและเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่นำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า
วันนี้ (25 มีนาคม 2567) เวลา 10.30 น. ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรยิ้มแป้น หมู่ที่ 8 ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ผศ.ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเกษตร คณะวทท. ม
อ.ปัตตานี นักวิจัยโครงการวิจัยพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี(โครงการแก้จน)โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)และคณะได้ส่งมอบอุปกรณ์สำหรับติดตั้งนวัตกรรมเกษตร BCG ประกอบด้วย เหล็กสำหรับติดตั้งโรงเรือน ถังน้ำเจาะรู พร้อมฝาปิด ท่อพีวีซีพร้อมก๊อกน้ำ ขวดขนาดเล็กสำหรับติดตั้งด้านหน้าถังน้ำเพื่อใช้สำหรับใส่ตัวหนอนที่เกิดจากการหมัก ให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรยิ้มแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อใช้ประโยชน์ภายในกลุ่ม โดยก่อนการส่งมอบทีมนักวิจัยและสมาชิกในกลุ่มได้ร่วมกันประกอบวัสดุอุปกรณ์ก่อนการส่งมอบด้วย
ผศ.ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ กล่าวว่า นวัตกรรมที่นำมามอบให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรยิ้มแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในวันนี้คือตัวกำจัดขยะอินทรีย์ที่จะสร้างประโยชน์และเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักได้ด้วย ในการสร้างประโยชน์นั้นมีการใช้ตัวหนอนเป็นตัวขจัด ตัวหนอนเมื่อโตป็นตัวเต็มวัยก็จะเป็นอาหารโปรตีนสูงของไก่และปลา ซึ่งเกษตรกรที่นี่มีการเลี้ยงไก่และปลาอยู่แล้ว คิดว่าเหมาะมากที่จะใช้นวัตกรรมตัวนี้ และเกษตรกรกลุ่มนี้ทำเกี่ยวกับผักอยู่แล้ว จะมีเศษผักจากการตัดแต่งก็สามารถนำมาเลี้ยงหนอนได้ ทำให้สามารถจัดการทรัพยากรได้คุ้มค่ามากที่สุด
ผศ.ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนกระบวนการในการจัดทำคือ นำผักมาใส่ในถังที่เตรียมไว้ จากนั้นก็จะเกิดกระบวนการเป็นน้ำหมักและได้เป็นตัวหนอนออกมาโดยอัตโนมัติ สามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุน มีการหมุนเวียนทรัพยากรที่เหลือทิ้งที่มีอยู่แล้วเช่น เศษผัก สามารถนำมาผลิตเป็นตัวหนอนนำมาเป็นอาหารของไก่และปลาที่ให้โปรตีนสูง
นางนุชนารถ ระเด่นอาหมัด ระเด่นอาหมัด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เกษตรต.แป้น อ.สายบุรี กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรยิ้มแป้น ได้มีการรวมกลุ่มโดยชาวบ้านรวมกลุ่มกันปลูกผัก เช่น ข้าวโพดหวาน พริกหยวก ผักสลัด โดยทางเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์ให้ทางกลุ่ม กลุ่มเกษตรกรของที่นี่มมีความตั้งใจ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ผักที่ปลูกเป็นผักอินทรีย์ 100 % ใช้น้ำหมัก ปุ๋ยหมักที่ทางกลุ่มผลิตเอง ผลผลิตดี และเป็นที่ต้องการของตลาด
นางนุชนารถ ระเด่นอาหมัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีนำมานวัตกรรมมามอบให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรยิ้มแป้นใรวันนี้ คนเองรู้สึกดีใจที่เกษตรกรได้รับนวัตกรรมที่สามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาและช่วยทำให้พืชผักมีผลผลิตดีขึ้น ซึ่งเกษตรกรก็มีความสนใจอยู่แล้วด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ให้กับทางกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง
ด้านนายนเรศ อินทร์ทองเอียด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรยิ้มแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กล่าวว่าตนเองรู้สึกดีใจที่ทางม.อ.เข้ามาช่วยเหลือในวันนี้ เพราะว่าถ้าไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มก็ไปต่อไม่ได้ ที่ทางกลุ่มไปต่อได้เพราะมีหน่วยงานภาครัฐมาดูแล วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางม.อ.มาส่งเสริมเรื่องของการเลี้ยงหนอน เพราะทางกลุ่มมีการเลี้ยงไก่และเลี้ยงปลาก็จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรยิ้มแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จัดตั้งขึ้นในพื้นที่สปก. โดยในระยะแรกมีการเลี้ยงไก่เพียงอย่างเดียว ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสปก.มีโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของร.9 มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา และได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนที่ 1 เป็นโซนไม้ผล มีการปลูกมะพร้าว แก้วมังกร ฝรั่งกิมจู โซนที่ 2 โซนสระน้ำ ริมสระจะปลูกข้าวโพด พริก ผักพื้นบ้าน ในสระก็จะเลี้ยงปลา ส่วนโซนที่ 3 คือ โซนผักยกแคร่ และเลี้ยงไก่ ทางกลุ่มจะทำการเกษตรแบบครบวงจร ทุกอย่างของที่นี่จะลดต้นทุนการผลิต โดยทางกลุ่มมีการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชเอง ผลิตดินสำหรับปลูกเอง ใช้ปุ๋ยมูลไก่ เศษผักนำไปเลี้ยงไส้เดือน เป็นต้น
จากการลงพื้นที่ส่งมอบนวัตกรรมเกษตร BCG ให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรยิ้มแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ของโครงการวิจัยพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี(โครงการแก้จน)โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตและเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่นำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์

พื้นที่ปฏิบัติการ

อำเภอสายบุรี

โมเดลแก้จน

ประเภท Problem Based
ด้าน ไม่ระบุ