ระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) ในโอกาสที่จังหวัดปัตตานีขอรับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 ในหัวข้อการบริหารงานภาครัฐเป็นระบบราชการ 4.0
จังหวัดปัตตานีมีแนวทางการพัฒนาจังหวัดที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เน้นการพัฒนาให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุมคามแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนกลไก แนวคิด และวิธีการทำงานใหม่ของระบบราชการให้เป็นระบบราชการ 4.0 ได้ยึดหลักธรรมภิบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชน มุ่งเน้นการเปิดกว้างให้ภาคส่วนอื่นและเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อมโยงการทำงาน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเน้นพัฒนาองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูงโดยสนับสนุนบุคลากรทุกระดับให้มีการคิดค้นนวัตกรรมในการปฏิบัติงาน โดยมีระบบการทำงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์จังหวัดให้ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน เพื่อส่งมอบบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชนและเครือข่ายของผลการดำเนินงานที่สอดคล้องสู่ระบบราชการ 4.0
จังหวัดให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรได้สนับสนุนบุคคลากรทุกระดับให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ผลการดำเนินงานที่สำคัญและโดดเด่น ได้แก่ โครงการระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System:DSS) และเครื่องตรวจนับผู้มาเที่ยวชมงานแบบออนไลน์ที่นำมาใช้ในโครงการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนใต้ กิจกรรมมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานี อาเซียน “กตัญญคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ประจำปี ๒๕๖๖
ระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนจังหวัดปัตตานีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีพัฒนาภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจ้ดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ระบบ DSS นำเสนอข้อมูลครัวเรือนรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทุนฐานดำรงชีพ 5 มิติของครัวเรือน ระบบแดชบอร์ดในการค้นหา สอบทาน ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือ โดยผู้ใช้ข้อมูลสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจสนับสนุนการดำเนินการด้านกิจกรรม แผนงานและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจน กระบวนการดำเนินงานขั้นต้น ทีมพัฒนาระบบของจังหวัดจะค้นหาและสำรวจความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ (User) ได้แก่ นักบริหารจัดการในระดับพื้นที่ เช่น ส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด พมจ. พช.จ. สสจ. และหัวหน้าหน่วยงานอื่น ๆ อบจ. ระดับท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และระดับท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลและสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของข้อมูลร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การออกแบบความ ช่วยเหลือสวัสดิการครอบคลุมในพื้นที่และเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย