
การเตรียมความพร้อมรับมือฝนฟ้าอากาศและภัยพิบัติ ด้วยแอปพลิเคชัน
……………………….
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ทีมวิจัยโครงการการพัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยข้อมูล ความรู้ แบบสหวิทยาการในพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซากจังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ปีที่ 2 จัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมรับมือฝนฟ้าอากาศและภัยพิบัติ ด้วยแอปพลิเคชั่น โดยมีหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ 11 ตำบล 8 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 40 คน ณ ห้องประชุมรูสะมิแล อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ และร่วมแลกเปลี่ยนการบริหารจัดการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่
กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มายือนิง อิสอ หัวหน้าโครงการ มีการให้ความรู้การเตรียมความพร้อมรับมือฝนฟ้าอากาศและภัยพิบัติ ด้วยแอปพลิเคชั่น โดยวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เข้าร่วมวาดภาพจำลองอาณาเขตพื้นที่ และเส้นทางน้ำของชุมชนตนเอง พร้อมกับได้ร่วมแลกเปลี่ยนการใช้แอปพลิเคชัน PBWatch Apps และ windy ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น เรดาร์ภาพรวม ภาพดาวเทียม แนวโน้มฝน เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้เป็นทิศทางประกอบในการวางแผนการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ในอนาคตได้
“การรับมือและจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ จำเป็นมาก ๆ ที่แต่ละพื้นที่ต้องรู้อาณาเขตพื้นที่ของตนเอง รู้พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำ เพราะจะทำให้เราได้สื่อสารกัน ส่งข้อมูล เพื่อให้อีกชุมชนหนึ่งได้เตรียมพร้อมรับมือได้ทัน ยิ่งวันนี้พวกเราทั้ง 11 ตำบลเปรียบเสมือนเครือข่ายเดียวกัน เกิดการประสานงานกัน เชื่อว่าสามารถรับมือและจัดการน้ำท่วมได้ดี”