
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอโมเดล “ตาลีอายร์ยั่งยืน: ระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศทางสังคม ตำบลตาลีอายร์” ในโครงการสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน: วิถีสู่ความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี ณ อาคารรัฐสภา
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว นำเสนอผลงานจากการโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดปัตตานี ที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) โดยนำเสนอโมเดลแก้จน “ตาลีอายร์ยั่งยืน: ระบบเศรษฐกิจเชิงนิเวศทางสังคม ตำบลตาลีอายร์” ในเวทีสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน: วิถีสู่ความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสโมสรโรตารี
การสัมมนาเริ่มต้นด้วยกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วาระแห่งชาติ: นโยบายแก้จนของประเทศไทย” โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จากนั้น มีการนำเสนอผลงานการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งจากการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 11 โครงการ และผลงานจากโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ดำเนินการโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. การนำเสนอภาพรวมของโครงการ ต่อด้วยการนำเสนอโครงการเด่นจำนวน 5 โครงการ โดยประเด็นสำคัญในการนำเสนอของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คือ ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยแนวคิดระบบนิเวศทางสังคมในพื้นที่นำร่องคือตำบลตาลีอายร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่ดำเนินการพร้อมกันในทุกมิติ ทั้งมิติสุขภาพ การศึกษา การเสริมศักยภาพของคน การสร้างรายได้ และยกตัวอย่างปฏิบัติการแพะแก้จนตำบลตาลีอายร์
นอกจากการนำเสนอผลงานบนเวทีแล้ว โดยรอบงานสัมมนายังมีการจัดบูธนิทรรศการ โดย ดร.ไอร์นี แอดะสง หัวหน้าศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี และ นางสาวอาตีซะห์ วาแมง ผู้ช่วยวิจัย ได้จัดบูธนำเสนอผลงานจากการแก้ปัญหาการเลี้ยงแพะแกะเพื่อนำเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหาร ทั้งนี้ ปฏิบัติการแพะแกะแก้จนมี ผศ.ดร.เทียนทิพย์ ไกรพรม เป็นหัวหน้าทีม ใช้วิธีการศึกษาสภาพปัญหารายครัวเรือนและใช้นวัตกรรมส่งเสริมการเลี้ยงแพะแกะเพื่อเพิ่มจำนวนและให้องค์ความรู้ด้านการเลี้ยง ได้แก่ นวัตกรรมแพะน้ำใจ “ทรัพย์ ม.อ.” นวัตกรรมยุวปศุสัตว์ นวัตกรรมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และ นวัตกรรมโรงเรือนแพะแกะต้นทุนต่ำ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วภายในบูธยังประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แปรรูปจากพืชผลผลิตในฟาร์มตัวอย่างสีปาย ตำบลตาลีอายร์ โดยการนำของ ดร.อารีย์ ธรรมโคร่ง และผลิตภัณฑ์แกงกูตุ๊ซึ่งเป็นแกงเนื้อสูตรโบราณ โดยการนำของอาจารย์นูรซาฮิดาห์ อุเซ็ง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี