
โครงการการยกระดับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งเสริมการตลาดสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ( OM ปศุสัตว์) โครงการวิจัยย่อย ภายใต้ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม : กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ปีที่ 2 นำโดยหัวหน้าโครงการฯ OM ปศุสัตว์ ผศ.ดร.เทียนทิพย์ ไกรพรม อาจารย์นักวิจัย ดร. นูรไอนีย์ สะแลแม ดร.ไอร์นี แอดะสง และคณะ ลงพื้นที่จัดกิจกรรม “การผลิตอาหารข้น/อาหารผสมสำเร็จสำหรับแพะ-แกะ” รวมถึงการจัดการด้านสุขภาพเบื้องต้นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปะโด อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
.
โครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากโครงการปฏิบัติการแก้จนด้านการพัฒนาอาชีพการเลี้ยง แพะ-แกะ ในพื้นที่ 5 ตำบลชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี (แหลมโพธิ์-ตาลีอายร์-บานา-บางตาวา-บางปู) เมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยในปี พ.ศ. 2567 นั้น ได้ขยายพื้นที่มายัง 6 อำเภอในจังหวัดปัตตานี (ยะหริ่ง-ยะรัง-หนองจิก-เมืองปัตตานี-ทุ่งยางแดง-แม่ลาน) เพื่อขจัดความยากจน ซึ่งมีเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงแพะ-แกะ และกระบือ ภายหลังจากการลงพื้นที่ พบว่าสภาพพื้นที่ของตำบลปะโดมีการทำอาชีพด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งการทำนาข้าว สวนยาง และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ร่วมด้วย โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะ-แกะ รวมถึงยังพบรายชื่อผู้ที่อยู่ในฐานคนจนกระจายอยู่ จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพื้นที่เป้าหมายจากเดิมเพื่อช่วยเหลือและขจัดความยากจนต่อไป
โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการนำวัตถุดิบอาหารสัตว์ในพื้นที่มาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าและประโยชน์คืนสู่พื้นที่ โดยการนำ “รำข้าว” จากข้าวเปลือกพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมปลูกในพื้นที่และรับซื้อจากโรงสีชุมชนในเขตพื้นที่ รำข้าว (Rice Bran) เป็นชั้นนอกของเมล็ดข้าวที่ถูกคัดออกในกระบวนการผลิตข้าวขาว ซึ่งเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย โดยเฉพาะในรูปของไขมัน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ
.
จากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถต่อยอดได้โดยเปิดรับบุคคลที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งถัดไป คือการเรียนรู้เรื่องการรักษาสุขภาพแพะ-แกะ เช่น การฉีดยา การใช้ยารักษาที่ถูกต้อง เป็นต้น โดยมีกลุ่มคนจนเป้าหมายได้แก่ เยาวชน/อาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ที่จะช่วยดูแลแพะ-แกะภายในชุมชนอย่างเร่งด่วน และจากการดำเนินกิจกรรม ยังได้ทราบถึงสภาพปัญหาการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อรับการแก้ไขต่อไปได้ในอนาคต