ลงพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการต่อยอดนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต “น้ำส้มสายชูจากน้ำตาลจาก”

ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอไม้แก่น ทีมวิจัยโครงการงานวิจัยภายใต้โครงการเชิงวิจัยพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการต่อยอดนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต “น้ำส้มสายชูจากน้ำตาลจาก”
ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า นวัตกรรมการผลิตน้ำส้มสายชูจากน้ำตาลจาก เป็นโครงการงานวิจัยภายใต้โครงการเชิงวิจัยพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดปัตตานี ร่วมด้วย ผศ.จารุวรรณ มณีศรี อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ม.อ.ปัตตานีและทีมวิจัย ทำการศึกษาวิจัยโดยการลงพื้นที่ ตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นจากเป็นทรัพยากรขึ้นอยู่จำนวนมาก มีการใช้ประโยชน์จากต้นจากในทุกส่วน หนึ่งในนั้นคือการทำน้ำส้มจากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายไป เป็นส่วนสำคัญที่ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษา นำมาสู่ผลิตภัณฑ์ “น้ำส้มสายชูจากน้ำตาลจาก” น้ำส้มสายชูหมักที่เกิดจากการแปรรูปของน้ำตาลต้นจาก เป็นผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีรสเปรี้ยวสามารถนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารได้
เพื่อนำองค์ความรู้ถ่ายทอดส่งต่อให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ วันนี้ (2 พ.ย.66) เวลา 09.00-12.00 น. ม.อ.ปัตตานี โดยโครงการวิจัยฯ จึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฎิบัติการต่อยอดนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต “น้ำส้มสายชูจากน้ำตาลจาก” ณ ตาดีกา สะบือรัง (บ้านพ่อเทพ) ม.5 ตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ชาวบ้านจำนวน 40 คนร่วมการอบรม โดยมีหัวข้อการอบรม ได้แก่ ภูมิปัญญาการทำน้ำส้มจาก อำเภอไม้แก่น โดยนายอัมรัน แวหะมิ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลักแตน นวัตกรรมการผลิตน้ำส้มสายชูจากน้ำตาลจาก ภาชนะในการผลิตน้ำส้มสายชูและบรรจุภัณฑ์ โดย ผศ.ดร.จารุวรรณ มณีศรี อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ม.อ.ปัตตานี การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่าย
นายอาหะมะเพายัน ฮามะ ปลัดอำเภอไม้แก่น กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีที่ได้มาทำวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากอำเภอไม้แก่นมีต้นจากเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการทำน้ำส้มจากต้นจาก เมื่อทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ นำเรื่องของวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน นำสู่การพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดในส่วนของรายได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของอำเภอไม้แก่นต่อไป
นายอัมรัน แวหะมิ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลักแตน ผู้มีประสบการณ์การทำส้มจากกว่า 40 ปี กล่าวว่า เดิมตนเป็นคนในพื้นที่อำเภอไม้แก่น ได้เรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น วันนี้เป็นโอกาสดีที่ ม.อ.ปัตตานี ได้มานำเสนอการขยายผลภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งนับวันจะน้อยลงไปจากท้องถิ่น เป็นโอกาสดีที่เยาวชนในพื้นที่ได้สืบสานและสานต่อภูมิปัญญาของชาวบ้านถึงวิธีการทำน้ำส้มจาก ซึ่งน้ำส้มจาก นอกจากจะมีประโยชน์ในการประกอบอาหารของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว จริงๆ แล้วต้นจากยังมีประโยชน์ตั้งแต่ต้นจนถึงใบ และก็สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำน้ำส้มจาก ซึ่งเป็นผลิตผลจากการนำดอกจาก กระบวนการโดยวิธีผ่านภูมิปัญญาของชาวบ้านมาเป็นน้ำส้มจาก ซึ่งน้ำส้มจากมีประโยชน์มหาศาลต่อพี่น้องในพื้นที่ชนบท ยังสามารถนำมาใช้บำบัดรักษาตามภูมิปัญญาชาวบ้าน มีวิธีการนำมาผสมกับผลไม้บางอย่างนำมาหมักดอง เพื่อมารับประทานเป็นสมุนไพรตามความเชื่อของชุมชนในชนบท คาดหวังว่าโครงการของมหาวิทยาลัยจะช่วยให้มีการสืบสานสิ่งเหล่านี้ต่อไป
นายนายฮาแว วอแม ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง หนึ่งในผู้รับฟังการอบรม กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณที่ทางมหาวิทยาลัยมาให้กำลังใจ และสบทบงานอาชีพของหมู่บ้านพ่อเทพ หมู่ 5 ตำบลไทรทอง การทำน้ำส้มจาก มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายถ้าเราไม่สานต่อก็อาจจะสูญหายไป จึงรู้สึกขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในครั้งนี้
ผศ.จรีรัตน์ รวมเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้นับเป็นอีกครั้งที่ได้มาลงพื้นที่ เพื่อขยายผลของโครงการแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัดปัตตานีภายใต้ OM ประมง การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นเรื่องของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในตำบลไทรทอง (บ้านพ่อเทพ) อำเภอไม้แก่น ซึ่งมีต้นจากจำนวนมากที่ริมชายฝั่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรประมง มีการใช้ประโยชน์ได้ครบ ตั้งแต่ใบจาก ก้านจากก็มีการนำมาทำหัตกรรม เช่น การทำเสวียน อีกส่วนหนึ่งที่ภูมิปัญญากำลังจะหายไปก็คือเรื่องของน้ำส้มจาก เป็นการต่อยอดภูมิปัญญา เป็นความต้องการของกลุ่มในพื้นที่ เพื่อจะพัฒนาต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์ กระบวนการอาจจะมีความซับซ้อนในช่วงแรกของการเก็บน้ำหวานจากต้นจากไปจนถึงกระบวนการหมัก โดยวันนี้ทีมวิจัยและ ผศ.จารุวรรณ มณีศรี อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ม.อ.ปัตตานี เป็นผู้มีความรู้ในการหมักน้ำส้มจากตาลโตนด จากมะพร้าว ก็สามารถนำมาต้นแบบในการหมักน้ำส้มจาก เป็นการนำวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ นำความรู้มาให้ชาวบ้านได้เห็นว่าในน้ำส้มนั้นมีปริมาณกรด ปริมาณน้ำตาล และแอลกอฮอล์ในปริมาณเท่าไหร่ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจเห็นถึงกระบวนการไปพร้อมกัน อีกทั้งชาวบ้านผู้รู้วิธีการตัดต้นจากของพื้นที่ ยังได้แสดงภูมิปัญญาในการสาธิตการตัดจากด้วย นับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับเชิงพื้นที่ โดยกระบวนการวิจัยนับว่าเป็นการนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ ภูมิปัญญานวัตกรรมต่อยอดเชิงพาณิชย์ และคาดว่าจะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ภายหลังการอบรมทีมวิจัยนำโดย ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ยังได้มีการลงพื้นที่มอบสิ่งของให้แก่ชาวบ้านซึ่งเป็นครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 3 ครัวเรือน เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการ เพิ่มโอกาสและความต้องการด้านอาชีพเป็นแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป
หทัยกาญจน์ เพชรประวัติ
นักประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี รายงาน.

ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์

พื้นที่ปฏิบัติการ

อำเภอไม้แก่น

โมเดลแก้จน

ประเภท Opportunity Based
ด้าน การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดปัตตานีโดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในชุมชนชายฝั่งทะเล
ประเด็นที่ 1. พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ จุดท่องเที่ยวชุมชน